Category: General, Date: 2013-08-14 15:11:37 Go Back
วว. โชว์นิทรรศการมหัศจรรย์น้ำมันหยดแรกจากสาหร่าย บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม บริการทดสอบระบบรางรถไฟ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2556 Hall 101 ไบเทค บางนา
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดโลกทัศน์เยาวชนไทยและยกระดับผู้ประกอบการสู่อาเซียน โชว์นิทรรศการผลงานวิจัยมหัศจรรย์น้ำมันหยดแรกจากสาหร่าย บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และบริการทดสอบระบบรางรถไฟ พร้อมจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานวิจัยราคาพิเศษ! ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2556 วันที่ 6-21 สิงหาคม 2556 ณ Hall 101 ไบเทค บางนา นิทรรศการมหัศจรรย์น้ำมันหยดแรกจากสาหร่าย ร่วมภาคภูมิใจกับความสำเร็จในการค้นคว้าวิจัยด้านพลังงานทดแทนของ ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ ผู้เชี่ยวชาญวิจัย ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วว. และทีมวิจัย ซึ่งค้นพบสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็กที่มีศักยภาพสามารถผลิตน้ำมันได้ 20-30% ของน้ำหนักแห้ง และได้สร้างระบบนำร่องผลิตน้ำมันจากสาหร่ายขนาดเล็กในบ่อขนาด 100,000 ลิตร ที่ วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี ความสำเร็จดังกล่าวได้รับการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในโครงการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายเพื่อการจำหน่ายทางการค้า โดย วว. ประสบผลสำเร็จในการใช้เทคนิคย้อมสีไนล์ เรด (Nile Red staining) คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่ผลิตน้ำมันได้รวดเร็วเป็นแห่งแรกของประเทศไทย นับเป็นการวิจัยและพัฒนาด้านสาหร่ายผลิตน้ำมันแบบก้าวกระโดด โดยสามารถคัดเลือกสาหร่ายสายพันธุ์ที่ผลิตเม็ดน้ำมันสูงได้รวดเร็วเป็นจำนวนกว่า 30 สายพันธุ์ นำไปสู่การวิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงระดับขยายเชิงพาณิชย์กลางแจ้ง เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ผลิตน้ำมันสูงที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เทคนิคนี้ส่งผลให้การวิจัยสาหร่ายผลิตน้ำมัน เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในอนาคตประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ วว. สั่งสมประสบการณ์วิจัยและพัฒนาด้านสาหร่ายมาเป็นเวลากว่า 27 ปี มีคลังสาหร่ายขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชียที่มีการเก็บรักษาสายพันธุ์ที่แยกจากระบบนิเวศต่างๆ ของประเทศไทยกว่า 1,000 สายพันธุ์ มีผลงานเป็นรูปธรรมทั้งด้านองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายชนิด อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ วว. ยังเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย เพื่อยกระดับประเทศไทยในการเป็นผู้นำเทคโนโลยีสาหร่ายระดับอาเซียน ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย วว. ได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดตั้งในปี 2556 จำนวน 40 ล้านบาท เพื่อขยายการดำเนินการสาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็กให้กว้างขวางและครอบคลุมถึงสาหร่ายทะเลขนาดเล็ก ยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทรัพยากรชีวภาพสาหร่าย ตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการ นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ ทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ สายพันธุ์สาหร่ายพร้อมข้อมูล สิทธิบัตร ความลับทางการค้า ที่สามารถถ่ายทอดสู่ภาคเอกชน SMEs วิสาหกิจชุมชนเพื่อการผลิตทางการค้า คาดว่าจะเป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านสาหร่ายอย่างครบวงจรแห่งเดียวในประเทศไทย รวมทั้งให้บริการวิจัยด้านสาหร่ายแก่ภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างทั่วถึง นิทรรศการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ชมผลงานวิจัยด้านบรรจุภัณฑ์ของศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์แห่งชาติ ที่จัดตั้งขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงและรักษาคุณภาพของสินค้า ลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออก ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการบรรจุภัณฑ์ของประเทศ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของภาครัฐบาลและเอกชน ภายใต้กรอบการดำเนินงานซึ่งมุ่งวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ทดสอบคุณภาพวัสดุและบรรจุภัณฑ์ด้วยเครื่องมือทันสมัย และวิธีการที่ได้มาตรฐาน ให้บริการข้อมูลด้านการบรรจุภัณฑ์ การจัดสัมมนาและฝึกอบรมด้านการบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ ให้คำแนะนำ จัดทำเอกสารวิชาการ และเผยแพร่ความรู้ด้านการบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งเป็นหน่วยงานประสานระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. มุ่งวิจัยและพัฒนาภายใต้กรอบที่ว่า การบรรจุภัณฑ์หรือการหีบห่อ คือการใช้ศิลปะ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดเตรียมสินค้าเพื่อการขนส่ง การเก็บรักษา และการจำหน่ายโดยมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับความต้องการของสินค้านั้น บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานจะช่วยปกป้องสินค้าระหว่างการขนส่งและการตลาดจนถึงมือผู้บริโภคในสภาพที่ดีอย่างปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้น บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามพร้อมข้อมูลรายละเอียดของสินค้าจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีอันเป็นปัจจัยสำคัญในการจำหน่ายสินค้าทั้งภายในประเทศและเพื่อการส่งออก รางวัลบรรจุภัณฑ์ วว. 1. บรรจุภัณฑ์พลับไทย ได้รับรางวัล ThaiStar2006, AsiaStar2006, WorldStar2007 2. บรรจุภัณฑ์พี้ชสด ได้รับรางวัล ThaiStar2009, AsiaStar2009 3. บรรจุภัณฑ์กีวี ได้รับรางวัล ThaiStar2010, WorldStar2010 4. บรรจุภัณฑ์พี้ชแห้ง ได้รับรางวัล ThaiStar2012 รางวัลเกียรติยศระดับนานาชาติ -รางวัล WQC International Star Award for Quality ประเภท Diamond ประจำปี 2550 จากมูลนิธิคุณภาพประเทศสเปน -รางวัล The Century International Quality Era Award ระดับ Diamond ประจำปี 2547 จากมูลนิธิคุณภาพประเทศสเปน - รางวัล The International Arch of Europe for Quality and Technology ระดับ Diamond ประจำปี 2546 จากมูลนิธิคุณภาพประเทศสเปน -รางวัล The International Quality Summit Award for Excellence and Business Prestige ระดับ Platinum ประจำปี 2544 จากมูลนิธิคุณภาพประเทศสเปน -รางวัล The International Quality Summit Award for Excellence and Business Prestige ระดับ Gold ประจำปี 2542 จากมูลนิธิคุณภาพประเทศสเปน นิทรรศการบริการทดสอบระบบรางรถไฟ นำเสนอการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมของ ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติวัสดุ วว. ซึ่งให้บริการทดสอบและให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมด้านการประเมินชิ้นส่วนระบบรางและชิ้นส่วนรถไฟ อาทิเช่น หมอนรถไฟ รางรถไฟ เครื่องยึดเหนี่ยวรางรถไฟ ชุดกันตกราง รอยเชื่อมต่อราง และโบกี้ เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย มาตรฐาน มอก. และมาตรฐาน AREA (American Railway Engineering Association) ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการประเมินสมรรถนะและอายุการใช้งานข้อต่อขยายตัวสะพานต้านทานแผ่นดินไหวตามมาตรฐานสากล โดยที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องจัดส่งชิ้นส่วนระบบรางรถไฟไปทดสอบยังต่างประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ปัจจุบัน วว. ได้เริ่มให้บริการทดสอบระบบรางกับผู้ประกอบการก่อสร้างระบบรางชั้นนำของประเทศ เพื่อนำวัสดุที่ผ่านการทดสอบไปใช้ในการก่อสร้างระบบรางทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ซึ่งในปีที่ผ่านมา วว. ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนระบบรางรถไฟ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท วว. มีความพร้อมในการให้บริการทดสอบและให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมด้านการประเมินชิ้นส่วนระบบราง/ชิ้นส่วนรถไฟ รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร และชิ้นส่วนวิศวกรรม ให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือขอรับบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจาก วว. ได้ที่ Call center วว. โทร. 0 2577 9300 หรือที่ โทร. 0 2577 9000 E-mail : tistr@tistr.or.th www.tistr.or.th